เตรียมตัวมาออสเตรเลีย
SOL SURVIVAL GUIDE 101

Facts ที่ควรรู้เกี่ยวกับออสเตรเลีย

สภาพอากาศของออสเตรเลียมีความหลากหลายแตกต่างไปตามฤดูกาลและสภาพภูมิประเทศ ตั้งแต่แบบเขตร้อนถึงแบบอบอุ่น พื้นที่ร้อนสุดตั้งอยู่ทางตอนเหนือ (กลุ่มรัฐ Nothern Territory, Queensland, Western Australia ตามลำดับ) ประมาณ 34 องศาเซลเซียส และอากาศหนาวเย็นสุดอยู่ทางตอนใต้ (กลุ่มรัฐ New South Wales & ACT, South Australia,และ Victoria ตามลำดับ) ประมาณ 11-12 องศาเซลเซียส

 

ออสเตรเลีย มี 4 ฤดูกาล:

  • ฤดูร้อน (summer): ช่วงเดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์ มีอุณหภูมิอยู่ที่ 20-34 องศาเซลเซียส อากาศร้อน บางแห่งแห้งแล้งและเกิดไฟป่าได้
  • ฤดูใบไม้ร่วง (Autumn): ช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม มีอุณหภูมิอยู่ที่ 12-30 องศาเซลเซียส อากาศเย็นสบาย มีฝนตกบ้าง
  • ฤดูหนาว (Winter): ช่วงเดือนมิถุนายน – สิงหาคม มีอุณหภูมิอยู่ที่ 3-29 องศาเซลเซียส อากาศหนาว มีหิมะตกบริเวณเทือกเขาสูง
  • ฤดูใบไม้ผลิ (Spring): ช่วงเดือนกันยายน – พฤศจิกายน มีอุณหภูมิอยู่ที่ 14-27 องศาเซลเซียส อากาศดี เย็น สบาย

สรุปง่ายๆคือ เมืองที่อยู่ในรัฐทางตอนเหนือ อุณหภูมิและสภาพอากาศจะร้อนมากกว่าเมืองที่อยู่ในรัฐทางตอนใต้ของประเทศ และเวลาหนาวก็จะหนาวน้อยกว่าด้วย ความแปรปรวนของอากาศก็จะน้อยกว่าทางตอนใต้ด้วยเช่นกัน

 

Tips: ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ฟ้าใสและมีแดดแรงมาก โดยเฉพาะตามเมืองชายทะเลและเมืองในแถบทะเลทราย การทาครีมกันเเดดเสมอก่อนออกไปทำกิจกรรมต่างๆจึงเป็นสิ่งที่แนะนำสำหรับทุกคน เพื่อป้องกันการถูกแดดเผาและโรคมะเร็งผิวหนังนะ

ออสเตรเลีย มีการแบ่งความแตกต่างของเวลาตามเส้นแบ่งของโลกออกเป็น 3 เขตเวลา ตามมาตรฐานกรีนิช (Greenwich Mean Time, GMT) โดย Australia มี 3 โซนเวลา + 1

ช่วงโซนเวลาพิเศษ ดังนี้:

1. Australian Eastern Standard Time (AEST) UTC/GMT+10 คือ เร็วกว่าไทย 3 ชั่วโมง ใช้ในรัฐ Queensland, New South Wales, Victoria, Tasmania, และเมือง Canberra

2. Australian Central Standard Time (ACST) UTC/GMT+9.30 เร็วกว่าไทย 2 ชั่วโมงครึ่ง ใช้ใน Northern Territory และรัฐ South Australia

3. Australian Western Standard Time (AWST) UTC/GMT+8 เร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง ใช้ใน รัฐ Western Australia

4. ช่วงโซนเวลาพิเศษ Australian Eastern Daylight Time (AEDT) UTC/GMT+11 คือ เร็วกว่าไทย 4 ชั่วโมง จะมีเวลาในช่วงกลางวันยาวนานกว่าในช่วงกลางคืน จึงมีการปรับเวลาให้เร็วขึ้นจากเดิมอีก 1 ชั่วโมง ในช่วงเดือนตุลาคม – มีนาคม ในทุกรัฐ (New South Wales, Victoria, Tasmania, South Australia) ยกเว้น รัฐ Western Australia, Queensland

หน่วยเงินของออสเตรเลีย เป็นสกุลเงิน ดอลล่าร์ออสเตรเลีย ($) หรือ AUD

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับหน่วยเงิน มีดังนี้:

1 ดอลล่าร์ ( $ ) = 100 เซนต์ ( c )

เหรียญที่ใช้ในออสเตรเลีย แบ่งเป็น 5c , 10c , 20c , 50c (เหรียญทั้งหมดนี้เป็นสีเงิน) และ 1$ และ 2$ (เหรียญเป็นสีทอง)

ธนบัตร จะมี 5 ราคา คือ 5$, 10$, 20$, 50$, และ 100$ ปัจจุบันธนบัตรเป็นแบบธนบัตรพลาสติก

Note: ปัจจุบันออสเตรเลียเป็นสังคม cashless society กันมากขึ้น แต่ก็ยังมีการใช้ cash เงินสดกันอยู่ โดยเฉพาะหากได้ไปเที่ยวตลาดนัด หรือตลาดต่างๆ บางที่ยังรับแค่เงินสด แต่เแถวชนบท และชานเมืองก็ริ่มมีการเน้นใช้ contactless payment กันมากขึ้นแล้ว

 

                     

ออสเตรเลียใช้กระเเสไฟฟ้า 220 – 240 โวลต์ (v) ทุกคนสามารถที่จะนำเครื่องใช้ไฟฟ้าจากเมืองไทยมาใช้ได้ แต่จะต้องเปลี่ยนปลั๊กเป็นแบบ 3 ขา (รูปร่างเป็นแบบตัวขาทรงเเบนเอียงทำมุมเข้าหากันเล็กน้อย) หรืออาจจะหาซื้อ universal adapter ปลั๊กแปลงสำหรับเปลี่ยนขามาใช้ก็ได้ มีขายทั้งที่ประเทศไทยและออสเตรเลียเลย

  • ธนาคาร – ส่วนใหญ่เปิดให้บริการ วันจันทร์ 9.30 – 16.00 น. เวลา 9.30 – 16.00 น. ในแต่ละสาขาจะมีขยายเวลาทำการเพิ่ม 1 ชม. คือ ตั้งแต่เวลา 9.30 – 17.00 น. ในวันพฤหัสหรือวันศุกร์ และมีเปิดเพิ่มพิเศษในบางที่ในวันเสาร์เช้าด้วย
  • สำนักงานต่างๆ – เปิดทำการ 9.00 – 17.30 น. ในวันจันทร์ ถึง ศุกร์
  • ร้านค้าทั่วไป – เปิดทำการช่วง 9.00 – 17.30 น. ในวันจันทร์ ถึง ศุกร์ วันเสาร์เปิด 9.00 -17.00 น. (เวลาอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามข้อกำหนดของแต่ละร้าน) วันอาทิตย์ร้านย่อยๆมักจะปิดทำการ ยกเว้นในย่านท่องเที่ยวและห้างสรรพสินค้า

Note: จะมีหนึ่งวัน ประมาณช่วงวันพฤหัส หรือ วันศุกร์ ร้านค้าทั่วไปจะเปิดถึงประมาณ 21.00 หรือ 21.30 น. ส่วนร้านค้าปลอดภาษีมักจะเปิดถึงช่วงประมาณ 21.00 – 22.00 น.*

  • ตลาดนัด – ส่วนใหญ่จะเปิดตั้งแต่ 9.00 – 15.00 น. หรือ 16.00 สำหรับวันธรรมดา และจะปิดเร็วขึ้น ประมาณช่วง 14.00 น. หรือ 15.00 น. ในวันเสาร์ – อาทิตย์
  • Supermarket – ในเมืองใหญ่ๆ มักจะเปิดประมาณ 12 ชั่วโมง / วัน และ 7 วัน / สัปดาห์ และบางแห่งเปิด 24 ชั่วโมง

Note: ร้านสะดวกซื้อเช่น 7 Eleven ในบาพื้นที่เปิด 24 ชม.แต่บางพื้นที่เปิดถึงเเค่ 22.00 น. เท่านั้น*

สิ่งของที่ควรเตรียมมาออสเตรเลีย

ส่วนใหญ่แล้ว นักศึกษาต่างชาติที่เดินทางมาเรียนที่ออสเตรเลีย จะเน้นแต่งตัวลำลอง เรียบง่าย เสื้อยืด กางเกงยีนส์ เหมาะกับทุกสภาวะอากาศและคลาสสิค แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสไตล์และความชอบของเเต่ละคน ใครอยากแต่งเต็มก็จัดเลย แต่โดยรวมแล้ว SOL Edu ขอแนะนำว่าการเตรียมเสื้อผ้ามาที่ออสเตรเลียควรคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศและที่ตั้งของเมืองเราทุกคนจะไปเรียนและใช้ชีวิตกันนะ

  • ถ้าใครจะไปเรียนที่เมืองในเขตหนาวอย่าง Canberra, Melbourne หรือ Hobart ก็ควรเตรียมเสื้อผ้าเมืองหนาวไปเผื่อด้วย
  • ถ้าใครจะไปเมืองร้อนอย่าง Darwin, Townsville, Brisbane, Cairns หรือ Gold Coast เสื้อผ้าที่ใส่อยู่ที่เมืองไทยทุกแบบคือเหมาะกับเมืองเหล่านี้หมดเลยค่ะ และเมื่อถึงฤดูหนาวจะไม่ได้หนาวมากขนาดเมืองในตอนล่าง เพราะอากาศจะเย็นสบายไม่ทรมานแน่นอน เสื้อ coat หนาๆก็ไม่ค่อยจำเป็นเท่าไหร่
  • เสื้อผ้าพิเศษที่ควรจะเตรียมมาบ้างอีกอย่างก็คือ พวกชุดออกงาน และชุดสูท อาจเตรียมเผื่อไว้ใช้ในคราวที่ออกงานมหาวิทยาลัย หรือมาการร่วมงานสังสรรค์แบบทางการกับมหาวิทยาลัยและชมรมต่างๆในมหาวิทยาลัย

 

Note: สำหรับใครที่คิดว่าจะมาซื้อที่นี่ ก็ไม่มีปัญหา ที่นี่มีจัดโปรโมชั่นบ่อยๆ แต่ขอเตือนไว้ก่อนว่า ในบางครั้งไซส์เสื้อผ้าที่นี่ผลิตและนำเข้ามาในไซส์ที่อิงจากรูปร่างและสัดส่วนของคนออสเตรเลียซักส่วนใหญ่ บางทีไซส์คนเอเชียก็อาจจะต้องมีการนำไปตัด หรือปรับแต่งซึ่งอาจจะเสียเวลาเรา ในกรณีที่เราจำเป็นต้องใช้โดยด่วน และอาจจะต้องเสียเงินเพิ่มมากขึ้นเกินความจำเป็นด้วย ถ้าจะให้ดีการเตรียมเสื้อผ้าสำหรับแต่ละฤดูกาลมาส่วนนึงไว้ก็อุ่นใจกว่า เผื่อเอาไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน

ควรเตรียมรองเท้าที่สวมใส่สบายมา เพราะการคมนาคมในออสเตรเลียบางจุดไม่อนุญาตให้รถทุกประเภทผ่าน และถนนสายเล็กๆบางสายไม่มีรถบัสประจำทางวิ่งผ่าน คนออสเตรเลียและนักศึกษาส่วนใหญ่จึงใช้การสัญจรทางเท้าไปยังจุดหมายปลายทาง ไปที่จุดสถานีขนส่งผู้โดยสารหรือป้ายรถประจำทาง

  • รองเท้าที่เเนะนำคือ รองเท้าผ้าใบ ซัก2-3คู่ รับรองได้ว่าใส่คุ้มแน่นอน ไม่ว่าจะใส่ไปเรียน ไปเที่ยว หรือไปเล่นกีฬา
  • รองเท้าที่อยากแนะนำอีกประเภทคือ รองเท้าแตะ sandals ต่างๆ มีไว้ใส่เวลาลำลอง หรือไว้เดินเล่นสบายๆ
  • สุดท้ายรองเท้าคู่สุภาพสำหรับไว้ใส่ไปงานที่เป็นทางการ รวมถึงถุงเท้าสำหรับใส่กับรองเท้า และไว้ใส่นอนเวลาที่อากาศเย็นด้วย

ควรเตรียมชุดชั้นในไปให้มากพอ โดยเฉพาะทุกคนที่เป็นผู้หญิงเพราะอาจจะพบปัญหาในเรื่องของไซส์ที่ส่วนใหญ่อิงจากไซส์มาตรฐานของคนออสเตรเลีย รวมถึงสินค้าประเภทนี้ราคาแพงมาก รวมถึงดีไซน์ และคุณภาพของสินค้าประเภทนี้ที่ไทยก็ยังทำได้ดีกว่ามากๆด้วย

เครื่องใช้ไฟฟ้าที่แนะนำที่ควรเอามาจากเมืองไทย เนื่องจากที่ออสเตรเลีย ราคาจะค่อนข้างสูง ได้แก่ laptop, ไดร์เป่าผม, เครื่องม้วนผมไฟฟ้า

ที่ออสเตรเลียใช้กระเเสไฟฟ้า 220-240 โวลต์ ไม่มีปัญหาในการนำเครื่องใช้ไฟฟ้าจากเมืองไทยไปใช้ แต่ปัญหาอยู่ที่ปลั๊กไฟซึ่งถ้าไม่เปลี่ยนเป็นแบบ 3 ขา ตัวขาทรงเเบนเอียง ก็ต้องเตรียมปลั๊กเปลี่ยนขา (UNIVERSAL adapter) ไว้ใช้ ซึ่งหาซื้อได้ทั้งในประเทศไทยและออสเตรเลีย

นอกจากสิ่งที่แนะนำไปข้างต้นแล้ว ทุกคนควรเตรียมสิ่งของเหล่านี้ไปด้วย ความจริงแล้วของใช้เหล่านี้สามารถหาซื้อได้ในออสเตรเลีย และบางอย่างราคาก็ไม่ต่างกันมาก แต่บางอย่างของที่เมืองไทยก็ถูกกว่าพอสมควรเลย ในระยะเเรกที่ไปถึง เราอาจจะต้องใช้เวลาปรับตัวสักระยะหนึ่ง อาจจะดูยากลำบาก หรือมีอะไรติดขัด ดังนั้นการเตรียมของเหล่านี้ไปพอใช้ในระยะเเรกๆก็จะทำให้เรารู้สึกพร้อม และช่วยให้สถานการณ์ต่างๆดีขึ้นได้

  • ของใช้ที่ควรนำติดตัวไปด้วยในระะยะเเรกๆที่แยากแนะนำคือ พวกของใช้ในห้องน้ำ พวกสบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ยาสระผม สบู่อาบน้ำ ครีมบำรุงผิว ครีมกันแดด จะขวดใหญ่ขวดเล็กเอาที่สะดวกได้เลย
  • ผ้าอนามัย สำหรับผู้หญิงพกมาเผื่อในช่วงเดือนเเรกก็เพียงพอแล้ว เน้น ปลอดภัย อุ่นใจไว้ก่อน
  • เเว่นสายตา และคอนเเทคเลนส์ แนะนำว่าถ้าตัดจากที่ไทยมาได้ ตัดมาเลย ในส่วนของคอนเเทคเลนส์แนะนำให้ซื้อเตรียมมาเผื่อ และถ้าเป็นไปได้ควรเอาใบ prescription หรือ ใบตรวจวัดค่าสายตาเผื่อมาด้วยในกรณีจำเป็นที่จะต้องมาตัดที่นี่ เพราะที่นี่การตัดแว่น หรือซื้อขายคอนเเทคเลนส์ จำเป็นที่จะต้องมีใบตรวจวัดค่าสายตา และราคาค่อนข้างสูง

Note: ปัจจุบันมีการขายตอนเเทคเลนส์จากร้านค้าออนไลน์ จากฝั่งจีน และฮ่องกงเยอะเพิ่มขึ้น ใบตรวจค่าสายตาอาจไม่จำเป็นสำหรับการสั่งซื้อ แต่ราคาและการจัดส่งค่อนข้างสูง ถ้าเตรียมจากที่ไทยมาได้ก็จะดีกว่า

  • เครื่องนอน พวกผ้าปูที่นอน และปลอกหมอน บางที่มีเตรียมไว้แค่ฟูก หรือบางที่ก็มีเตรียมพร้อมไว้ให้หมดแล้ว แต่ทางที่ดีควรจะเตรียมเป็นของเราส่วนตัวไปด้วยสักหนึ่งชุดเผื่อเอาไว้
  • กระเป๋า เป้ เครื่องประดับต่างๆ ที่นี่มีขายเยอะมาก และราคามีให้เลือกหลายราคา แต่ถ้าใครไม่อยากซื้อเพิ่มหรือไม่มั่นใจว่าถ้าซื้อที่นี่ ของจะสวย เท่ห์ ถูกใจสไตล์เรามั้ย ก็พกติดตัว โกยทุกอย่าง เตรียมจัดใส่กระเป๋ามาได้เลยยยย

อาหาร พืช และเนื้อสัตว์ ดังต่อไปนี้:

  • ผักและผลไม้สดทุกชนิด 
  • เนื้อสัตว์ทุกชนิด รวมไปถึงอาหารจำพวกไส้กรอก ไข่ นมและเนยทุกชนิด 
  • เมล็ดข้าว พืช และสินค้าที่นำมาจากการล่าสัตว์และทำจากพืชไม้ 
  • ส่วนต่างๆของสัตว์ และสินค้าที่ทำจากสัตว์ 
  • ยาสเตอรอยด์ และยาฮอร์โมน ห้ามนำเข้า นอกจากจะมีใบอนุญาตการนำเข้าแสดงต่อเจ้าหน้าที่  
  • ยาเสพติดทุกชนิด
  • อาหารแห้ง  / บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป  / ผักและผลไม้แห้ง  / อาหารแปรรูปอื่นๆ  
  • มีดทำอาหาร มีดพับ  
  • ยาที่มีส่วนประกอบของสเตียรอยด์และสารเสพติด จำเป็นต้องสำแดงต่อเจ้าหน้าที่ เนื่องจากต้องมีใบอนุญาติในการนำเข้า 
  • ยาจำพวกสามัญประจำบ้านที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายยาออสเตรเลีย สามารถนำเข้าได้โดยไม่ต้องสำแดงต่อเจ้าหน้าที่  
  • ของที่ระลึกที่เป็นไม้หรือมีส่วนประกอบของไม้และสัตว์ 
  • สินค้าที่ปลอดภาษีที่มีมูลค่าเกิน A$900 สำหรับผู้ใหญ่ และ A$450 สำหรับเด็ก
  • แอลกอฮอล์และบุหรี่ โดยอนุญาติให้นำเข้าเฉพาะผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป  
  • สินค้าของปลอมและลอกเลียนแบบทุกชนิด  

เอกสารที่ต้องเตรียมนำมาออสเตรเลีย

แนะนำให้พกเอกสารแบบ digital file ไว้ในมือถือ และปริ้นท์แบบ hard copy เผื่อใส่เเฟ้ม แล้วพกไว้ในกระเป๋าที่ถือขึ้นเครื่องได้ (carry on) หรือกระเป๋าสะพาย

อย่า!ใส่ในกระเป๋าที่ต้องโหลดขึ้นเครื่องเด็ดขาด

เอกสารที่ต้องเตรียมไปมีอยู่สองประเภทหลักๆ คือเอกสารสำคัญ กับ เอกสารประกอบการศึกษา

  • หนังสือเดินทาง (Passport)
  • ตั๋วเครื่องบิน
  • เอกสารด้านการศึกษา ได้แก่ จดหมายยืนยันการลงทะเบียนเรียนจากทางสถาบัน (COE Form- Confirmation of Enrolment) / ใบแสดงผลการศึกษา (Transcript) ของสถาบันเดิม / ผลทดสอบภาษาอังกฤษ (IELTS หรือ TOEFL) / จดหมายรับรองจากอาจารย์หรือที่ทำงาน (Letter of Recommendation) (ถ้ามี)
  • เอกสารด้านการเงิน เช่น บัตรเครดิต, Bank Draft, Traveller’s Cheque
  • หากว่าใครคิดจะไปหาประสบการณ์การทำงานที่ออสเตรเลีย ก็ควรเตรียมเอกสารเกี่ยวกับการทำงาน เช่น Resume , หนังสือรับรองการทำงาน และอย่าลืมบอกผู้ที่เราต้องการใช้ชื่อเป็นผู้รับรอง (Referee) ให้ทราบล่วงหน้าด้วยตามมารยาท
  • เงินสด (*ไม่เเนะนำให้พกติดตัวไปมาก เนื่องจากมีข้อจำกัดจากทางรัฐบาลออสเตรเลีย ที่อนุญาตให้ผู้เดินทางเข้าออสเตรเลียพกเงินสดติดตัวได้ไม่เกิน A$10,000) ควรพกเงินสดไว้กับตัวประมาณ A$1,000 สำหรับเผื่อใช้ในช่วงเดือนเเรก และนำส่วนที่เหลือเก็บไว้ในทาง online account ไว้ก่อน หรือเก็บไว้ใช้ในรูปแบบ traveller’s cheque หรือ bank draft จะปลอดภัยกว่า
  • สำหรับคนที่วางแผนจะเช่า หรือซื้อรถขับที่ออสเตรเลีย ก็ควรเตรียมทำใบขับขี่สากล (International Driver’s License) ไปจากเมืองไทยให้เรียบร้อย จะง่ายกว่าการมาสอบและทำใบขับขี่ที่นี่ เพราะที่นี่จะมีการเก็บช่วงโมงเรียนและสอบซึ่งจะใช้ระยะเวลานานกว่าพอสมควร

Note: เอกสารทั้งหมดที่กล่าวมา ยกเว้นเอกสารทางการเงิน แนะนำให้ทางบ้านทำสำเนาเก็บไว้ชุดหนึ่ง เพื่อไว้สำรองในกรณีเอกสารสูญหาย หรือต้องการติดต่อเรื่องต่างๆในเมืองไทย

หนังสือเรียนต่างๆ ที่จะใช้เรียนที่นี่ แนะนำให้เข้าคลาสเรียนก่อน แล้วค่อยซื้อ ซึ่งแนะนำให้เลือกซื้อเป็น e-book จะดีกว่าเพราะราคาถูกกว่า หนังสือฉบับจริง มากพอสมควร

ขั้นตอนการเปิดบัญชีธนาคาร / เปิด SIM CARD / หาและเช่าที่พัก / การเดินทาง / ทำประกันสุขภาพ OSHC ในออสเตรเลีย

การเปิด Bank account (บัญชีธนาคาร) เพียงเตรียมเอกสารให้พร้อม ละก็ไปทำเรื่องเปิด account ได้ที่ธนาคารที่เลือกไว้ได้เลย โดยธนาคารหลักของออสเตรเลียนั้นจะมี 4 ธนาคารใหญ่ นั่นก็คือ

  • Commonwealth Bank
  • ANZ
  • NAB
  • Westpac

โดยแต่ละธนาคารมีประเภทบัญชีที่คล้ายกัน มีให้เลือกทั้งแบบมีค่าบริการรายเดือนหรือไม่มีค่าบริการตราบใดที่มีเงินฝากขั้นต่ำ สามารถเลือกธนาคารที่เหมาะสมกับความต้องการได้เลย บางธนาคาร อย่าง Commonwealth สามารถเปิดบัญชีออนไลน์ได้ตั้งแต่อยู่ที่ไทย ซึ่งทำได้ล่วงหน้าก่อนเดินทางได้ถึง 3 เดือน และไปยืนยันตัวตนที่ธนาคารเมื่อเดินทางถึงออสเตรเลียได้เลย

ขั้นตอนที่ 1: คลิกที่ลิงก์เปิดบัญชีข้างล่างนี้

https://www.commbank.com.au/moving-to-australia/banking.html

 

ขั้นตอนที่ 2: เลือกรูปแบบการเปิดบัญชี

มีให้เลือก 2 แบบ ซึ่งปัจจุบันทั้งสองแบบจะมีขั้นตอนเหมือนกันมาก ดังนี้

  • เปิดบัญชีแบบ Smart Access (Every Bank Account) สามารถเปิดบัญชีให้ตัวเองเท่านั้น (สำหรับผู้ที่ถือวีซ่าที่ไม่ใช่วีซ่านักเรียน)
  • เปิดบัญชีแบบ Student Smart Access (Student Bank Account) เปิดได้เฉพาะบัญชีของตัวเองเท่านั้น (สำหรับผู้ที่ถือวีซ่านักเรียน)
ขั้นตอนที่ 3: กรอกรายละเอียดวันที่ ที่คาดว่าไปถึงออสเตรเลีย

**เราจะเปิดบัญชีล่วงหน้าได้ แต่ไม่เกิน 3 เดือนก่อนวันที่เรากะว่าจะไปถึง**

**เวลากรอกวันเดือนปี (DD/MM/YYYY) แล้ว กด OK ระบบจะแจ้งว่า Please ensure your arrival date is correct ให้กด OK อีกที**

 

ขั้นตอนที่ 4: กรอกรายละเอียด ชื่อ-นามสกุล

ในขั้นตอนนี้ต้องแน่ใจว่าชื่อและนามสกุลสะกดถูกต้องและตรงกับในพาสปอร์ต

 

ขั้นตอนที่ 5: กรอกรายละเอียด ภาษา อีเมล และเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้

** country code ของเมืองไทยคือ +66 ของออสเตรเลียคือ +61 **

 

ขั้นตอนที่ 6: กรอกรายละเอียด วันเดือนปีเกิด

**เวลากรอกวันเดือนปีแล้ว กด OK ระบบจะแจ้งว่า Please ensure your date of birth is correct ให้กด OK อีกที**

 

ขั้นตอนที่ 7: กรอกรายละเอียด ที่อยู่ปัจจุบัน

 

ขั้นตอนที่ 8: กรอกรายละเอียด เลือกสาขาธนาคารที่ต้องการเปิดบัญชี

**ให้เลือก รัฐที่ตัวเองกำลังจะเดินทางไปเรียน สำหรับสาขา ให้เลือกสาขาที่เราสะดวก อาจจะเลือกจากสาขาในเมือง หรือที่ใกล้ที่พักอาศัยของเรา เช่นถ้าจะไปเรียนที่ Brisbane ก็เลือก รัฐ QLD แล้วเลือก Branch อีกที ซึ่ง Branch ในรูป จะเป็นสาขาที่อยู่ในเมืองซึ่งเดินทางสะดวกสุด และหาง่าย เป็นต้น**

 

ขั้นตอนที่ 9: ตั้งรหัสผ่านสำหรับการใช้งาน NetBank

การตั้งรหัสผ่านจะต้องมีทั้งตัวอักษรและตัวเลข ความยาว 8-16 ตัวอักษร และไม่ควรใช้วันเกิดหรือชื่อ-นามสกุลมาตั้งเป็นรหัสผ่าน เพราะจะทำให้ง่ายต่อการถูกขโมยรหัสผ่านได้

 

ขั้นตอนที่ 10: ขั้นตอนการยืนยัน และรับเอกสารแนะนำการให้บริการของธนาคาร

ขั้นตอนสุดท้ายนี้จะมีเอกสารแนะนำ และรายละเอียดเงื่อนไขการให้บริการของธนาคารให้ศึกษา ทุกคนสามารถดาวน์โหลดเก็บไว้ได้เลย หรือเปิดดูในแอคเค้าท์ของตัวเองบน website ของ Commonwealth เมื่อคลิก OK แล้ว ระบบจะทำการประมวลผลสักครู่ 

 

ขั้นตอนที่ 11: เข้าสู่หน้าบัญชี NetBank

เมื่อระบบทำการประมวลเสร็จแล้ว ก็จะเข้าหน้า NetBank ของผู้สมัครแบบอัตโนมัติ ซึ่งในหน้านี้จะแสดงหมายเลขบัญชี หมายเลขสาขา รวมถึงยอดเงินคงเหลือ

ในขั้นตอนนี้เราสามารถโอนเงินเข้าบัญชีได้ แต่จะยังถอนเงินออกจากบัญชีไม่ได้ หากต้องการถอนเงินจะต้องนำ Passport และ welcome letter (ดาวน์โหลดไฟล์หรือปริ้นท์จากลิงก์ในหน้า website นี้) เพื่อไปยืนยันตัวตนกับทางสาขาธนาคารที่เลือกไว้ก่อน เมื่อเดินทางไปถึงออสเตรเลียแล้ว

 

ขั้นตอนที่ 12: กด Read & Print เพื่อพิมพ์ Welcome letter

รายละเอียดควรทราบหลังจากสมัครเสร็จจะประกอบด้วย

  • Client number : เลข log in เข้าระบบ 8 หลัก
  • Account type: มี 2 ประเภท:
    • Smart Access (สำหรับผู้ถือวีซ่า Work and Holiday และผู้ถือวีซ่าที่ไม่ใช่วีซ่านักเรียน)
    • Student Smart Access (สำหรับผู้ถือวีซ่านักเรียน)
  • BSB : เลขสาขา 6 หลัก
  • Account number : เลขบัญชี 8 หลัก
  • Balance : เริ่มต้นจะแสดงเป็น $0.00 หากทำการโอนเงินเข้าบัญชีแล้ว สามารถ Log in เข้ามาตรวจสอบยอดเงินได้

ตัวอย่าง Welcome Letter

 

ขั้นตอนที่ 13: การล็อกอินเข้าสู่ NetBank

เมื่อทำการสมัครเปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว จะได้รับอีเมล Welcome to NetBank จากทาง Commonwealth Bank ซึ่งจะมีรายละเอียด NetBank client number สำหรับใช้ล็อกอินเข้าสู่ระบบ รวมถึงลิงค์สำหรับเข้าสู่หน้า NetBank

เมื่อคลิกที่ลิงก์ commbank.com.au/netbank จะเข้าสู่หน้านี้

ให้ล็อกอินโดยกรอกหมายเลข NetBank client number 8 หลัก ที่ได้รับทางอีเมล และรหัสผ่านที่ได้กรอกไปในขั้นตอนการสมัคร 

พอไปถึงธนาคารก็จะมีพนักงานสอบถามว่าเราต้องการทำธุรกรรมด้านไหน ก็แจ้งไปว่ามายเปิดบัญชีเงินฝาก (สำหรับคนที่มายืนยันตัวตน เพื่อมาเอาสมุดบัญชีก็ทำแบบเดียวกัน อย่าลืมนำใบ welcome letter ไปด้วยนะ) พนักงานก็จะพาเราทำตามขั้นตอนของเราเลย เอกสารเพิ่มเติมที่ต้องนำไปด้วยมีดังนี้:

  • Passport (ตัวจริง)
  • ใบยืนยันสถานะVisa granted
  • CoEs (เอกสารที่รับรองจากโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยที่สมัครเรียยนตอนยื่นวีซ่า)
  • ข้อมูลส่วนตัว เช่น เบอร์โทรศัพท์ และที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้ในออสเตรเลีย
  • Welcome Letter จากธนาคาร (สำหรับคนที่สมัครเปิดบัญชีทางออนไลน์มาจากไทยแล้ว)
  •  เลข TFN หรือ ABN (ในกรณีที่ต้องการทำงานในออสเตรเลีย เลขนี้สามารถส่งให้ธนาคารตามหลังได้หลังจากเปิดบัญชีไปแล้ว เพื่อป้องกันการคิดภาษีซับซ้อนจากเงินฝากของเรา)

เมื่อเราทำตามขั้นที่พนักงานบอกเรียบร้อยแล้ว เราก็จะได้เลขบัญชีพร้อมเอกสารต่างๆของทางธนาคาร ก็ถือเป็นการเปิดบัญชีเรียบร้อย

แต่เรายังไม่ได้ debit card ในวันที่เปิดบัญชีนะ พนักงานจะแจ้งให้เรารอประมาน 7-14 วันทำการ โดยจะส่งไปยังที่อยู่ที่เราได้ให้ไว้ตอนเปิดบัญชี แค่นี้ก็เรียบร้อย กลับบ้านได้เลย

เมื่อได้รับ Debit card จากทางธนาคารแล้ว เราต้องทำการ Activate card ก่อนการใช้งาน ถ้าไม่อย่างนั้นจะทำการใดๆกับบัตรไม่ได้เลย ส่วนการเปิดใช้งานบัตรเดบิตใหม่ก็เป็นอะไรที่ง่ายมากๆ รวมไปถึงการโหลดแอพลิเคชั่น Online banking บนมือถือของธนาคารที่เราเปิดบัญชีไว้ก็แสนจะง่ายทั้งระบบ iOS และ Android เมื่อโหลดมาแล้วก็ทำตามขั้นตอน กรอกข้อมูล เช่น เลขสมาชิกลูกค้าของธนาคาร เลขบัญชี และตั้งรหัสผ่าน จบปึ้ง!

ส่วนขั้นตอนในการ activate card ก็มีทางเลือกให้ถึง 4 วีธีการด้านล่างเลย:

  • การโทรเพื่อเปิดใช้งานบัตร
  • การเปิดใช้งานบัตรผ่านตู้ ATM
  • การเปิดใช้งานผ่าน website ของทางธนาคาร หรือ online banking
  • การเปิดใช้งานผ่าน application ของธนาคาร

ออสเตรเลียมีบริษัทให้บริการโทรศัพท์มือถือใหญ่ ๆ อยู่สามค่าย นั่นก็คือ Optus, Vodafone และ Telstra ทุกคนสามารถซื้อ SIM Card ได้ตั้งแต่ที่สนามบิน, ร้านสะดวกซื้อ หรือจะเข้าไปที่ร้านของผู้ให้บริการนั้น ๆ เลยก็ได้ เพียงแค่นำเอกสารของเรา ไปที่จุดให้บริการของค่ายโทรศัพท์ที่ต้องการและแจ้งว่าต้องการเปิดบัญชีโทรศัพท์เท่านั้นเอง พนักงานก็พร้อมจะให้บริการและช่วยเหลือทุกคน แน่นอน

ประเภทสัญญาจะสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ซึ่งน้อง ๆ สามารถเลือกประเภท SIM Card ได้ตามสะดวก:

1. Prepaid หรือ จ่ายก่อนใช้งาน ซึ่งก็คือเติมเงินแล้วใช้นั่นเอง จะเหมาะกับนักเรียนที่มาในระยะเวลาสั้น ๆ และอยากประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถเลือกแพคเกจได้ด้วยตนเองตั้งแต่ขั้นตอนการลงทะเบียน

2. Plan หรือ Monthly Fee นักเรียนสามารถลงทะเบียนเพื่อจ่ายแบบเดือนต่อเดือน โดยสามารถตัดค่าใช้บริการผ่านบัตรได้เลย หากใช้เกินก็จะหักบัตรอัตโนมัติเช่นกัน

ทุกคนสามารถเข้าไปดูราคาและโปรโมชั่นของแต่ละเครือข่ายได้ตามเว็บไซต์ด้านล่างนี้ก่อนได้ เพื่อทำการเปรียบเทียบและตัดสินใจในการเลือกเครือข่ายโทรศัพท์ที่จะใช้เมื่อมาถึงออสเตรเลีย

เอกสารที่ใช้การลงทะเบียนเบอร์โทรศัพท์:

  • Passport (ตัวจริง)
  • COE หรือ บัตรนักเรียน
  • บัญชีธนาคาร หรือ บัตรเครดิต

ในออสเตรเลียมีที่พักที่นักเรียนต่างชาติรวมทั้งนักเรียนไทยในออสเตรเลียนิยมมากที่สุดมี 3 ประเภท ดังนี้:

1. ที่พักนอกวิทยาเขต (พวก Shared apartment / Condo / House) – ทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการความอิสระอย่างแท้จริง

สิ่งที่มาพร้อมกับที่พัก:

  • Furnished: ส่วนใหญ่จะมาพร้อมกับเฟอร์นิเจอร์สำหรับพร้อมเข้าอยู่
  • Partially-furnished/Unfurnished
  • จะเป็นห้องที่ตกแต่งบางส่วน หรือเป็นห้องเปล่าที่ต้องซื้อเฟอร์นิเจอร์เข้ามาเอง

ราคา:

$150 – 600 ต่อสัปดาห์

เว็บไซต์สำหรับหา Shared apartment / Condo / House:

เว็บไทย

เว็บต่างประเทศ

Group Facebook สำหรับหาที่แชร์ที่พักกับคนไทยด้วยกัน

  • www.facebook.com/groups/337049706949787/ – เพจหางาน หาบ้าน by Thaiwahclub
  • www.facebook.com/groups/thaisinbrisbane – เพจ Thais in Brisbane
  • www.facebook.com/marketplace/ – Facebook Marketplace แหล่งรวมขายสินค้า และที่พักออนไลน์ บน Facebook ( ค้นหาด้วยการใช้ keywords เกี่ยวกับห้องพักต่างๆ ตัวอย่างเช่น Room for rent/ Rent a room/ Apartment/ Flat/ Accommodation เป็นต้น)

 

2. หอพักนักศึกษาที่ออสเตรเลีย (พวก Student Accommodation) – ตามแถบของวิทยาเขตจะมีบริเวณที่เป็นแหล่งของหอพักนักศึกษา

สิ่งที่มาพร้อมกับที่พัก:

  • ห้องพักพร้อมเข้าอยู่
  • ศูนย์ให้บริการ 24 ชม.
  • อินเตอร์เน็ตในหอพัก
  • ตั้งอยู่ใกล้มหาวิทยาลัย
  • มีตัวเลือกทั้งแชร์และอยู่คนเดียว

ราคา:

$ 250 – 600 ต่อสัปดาห์

Note: สำหรับ Student Living ส่วนใหญ่แล้วค่าบริการห้องพัก จะรวมค่าน้ำ ค่าไฟ ค่า Internet ไว้หมดแล้ว แต่จะยังไม่รวมค่าซักผ้าและค่าอบผ้า ซึ่งจะต้องหยอดเหรียญก่อนใช้งาน มีค่าใช้จ่ายครั้งละ $2 – $4 ขึ้นอยู่แต่ละอพาร์ทเม้นท์ นอกจากนี้ในบางที่พัก เมื่อย้ายออกจากที่พักจะมีค่าบริการทำความสะอาดเพิ่มเติมซึ่งราคาขึ้นอยู่กับข้อกำหนดและเงื่อนไขของแต่ละที่พัก

เว็บไซต์สำหรับหา Student Living ที่น่าสนใจในออสเตรเลีย:

 

3. โฮมสเตย์ หรือการอยู่กับ Host family การพักในโอมสเตย์ หรือ การอาศัยอยู่กับ host family คือการไปอาศัยร่วมกับครอบครัวของผู้ที่พร้อมจะต้อนรับนักศึกษามาเป็นส่วนหนึ่งในบ้าน

สิ่งที่มาพร้อมกับที่พัก:

  • ห้องพักพร้อมเข้าอยู่
  • อินเตอร์เน็ต
  • อาหาร
  • สิ่งอำนวยความสะดวก

ราคา:

$ 250 – 400 ต่อสัปดาห์

หลักเกณฑ์การเลือก Homestay:

  • เลือกบริษัทจัดหา homestay ที่มีความน่าเชื่อถือ
  • เลือกโฮมสเตย์ที่อยู่ไม่ไกลจากสถาบันนัก และสามารถเดินทางได้สะดวก
  • สมัครล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อให้ได้ Homestay ที่ใกล้เคียงกับความต้องการมากที่สุด

เว็บไซต์หา Homestay:

  • เมื่อเจอพี่พักที่ต้องการก็ทำการติดต่อไปยังเอเจนท์ตามรายละเอียดที่ปรากฏบน website เพื่อนัดขอดูสถานที่จริง (Inspection) ในกรณีนี้ ถ้าตัวยังอยู่ที่ไทยและไม่สามารถมา inspection ได้ด้วยตัวเองได้ เอเจนท์จะไม่รับ Application เช่าบ้านจากเรา
  • เมื่อตรวจดูสถานที่จริงเรียบร้อยและพอใจที่จะเช่าก็ยื่นใบสมัคร พร้อมกับเอกสารประกอบเพื่อสมัครเป็นผู้เช่า ซึ่งการยื่นใบสมัครจะต้องแข่งขันกับผู้ที่มาร่วม Inspection บ้านพร้อม ๆ กับเรา โดยส่วนใหญ่แล้วเอเจนท์จะคัดเลือกจากผู้ที่มีรายได้เหมาะสมกับค่าเช่าบ้านเป็นหลัก จากนั้นทางเอเจ้นจะส่งให้เจ้าของบ้านพิจารณา และติดต่อเรากลับมาว่าเค้าตอบรับหรือปฎิเสธการขอเป็นผู้เช่าของเรา
  • เมื่อเอเจนท์และเจ้าของบ้านตอบรับมา ก็จะนัดกับเราเพื่อเซ็นต์สัญญาเช่า ส่วนใหญ่ในออสเตรเลียจะมีการเรียกเก็บ Bond หรือค่าประกันบ้านจากผู้เช่า จะต้องจ่ายก่อนย้ายเข้าไปอยู่ และจะได้รับคืนเมื่อย้ายออก หรือหากมีการยกเลิกสัญญาจากทางผู้เช่า หรือบ้านเสียหาย น้อง ๆ ก็จะไม่ได้รับเงินส่วนนี้คืน โดนเงินส่วนนี้จะถูกเก็บไว้โดย RTA หรือองค์กรที่ดูแลเรื่องการเช่าบ้าน

Note: ซึ่งหากเราสนใจห้องไหน ก็สามารถทักไปคุยกับเจ้าของบ้านได้โดยตรง และนัดการดูบ้าน (Inspection) และหากนัดดูบ้านแล้วก็สามารถตกลงทำสัญญากับเจ้าของบ้านได้เลย ซึ่งเจ้าของบ้านจะมีสัญญาให้เช่าอย่างน้อย 3 เดือน หรือ 6 เดือน สามารถคุยและต่อรองกันได้โดยตรง

เว็บไซต์และ Facebook Community สำหรับคนไทยในการช่วยเหลือหรือขอคำปรึกษาเกี่ยวกับที่พัก หรืออัพเดทข่าวสารต่างๆ:

เราจะได้ยินบ่อยๆในออสเตรเลียกับคำว่า sign บ้าน ก็คือ เซ็นสัญญาการเช่านั่นเอง ความหมายคือการเช่าบ้านและยังรวมไปถึงคอนโด หรือ อพาร์ทเมนท์นั่นเอง ซึ่งก่อนอื่นเลยเราต้องเลือกที่พักที่เราสนใจและต้องการจะเช่าก่อน โดยส่วนใหญ่แล้ว การเช่าบ้านในออสเตรเลียส่วนใหญ่จะต้องดำเนินการผ่านเอเจนท์ที่พักหรือนายหน้าที่พักนั่นเอง จะมีเพียงเเค่ student accommoadation ที่เราจะเซ็นสัญญาโดยตรงกับตัวแทนเจ้าหน้าที่ของสถานที่พัก

หลังจากที่เราติดต่อคุยกับเอเจนท์และนัดขอ inspection หรือการนัดขอดูห้องเพื่อที่เราจะได้เห็นห้องจริงว่าน่าอยู่มั้ย ห้องสภาพตรงกับภาพที่ลงโฆษณาหรือไม่ ห้องเก่าไปมั้ย และถ้าเราถูกใจห้องแล้วก็จะเป็นขั้นตอนต่อไปคือการเตรียมเอกสารในการขอเช่าห้องกัน

เอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับการยื่นขอเป็นผู้เช่าห้อง (Tenant):

  • Visa / Residency Status: สถานะวีซ่าและประเภทวีซ่าของเรานั่นเอง
  • Passport: หนังสือเดินทาง
  • Financial Evidence: หลักฐานทางการเงิน ส่วนนี้ก็จะใช้ประกอบการพิจารณาว่าเราความมั่นคงมากพอที่จะสามารถจ่ายค่าห้องได้หรือไม่
  • Rental Reference/Records: หลักฐานว่าเคยเช่าที่อื่นมาก่อนมั้ย ซึ่งถ้าเป็นการเช่าครั้งแรกเราก็ไม่ต้องยื่นเอกสารนี้ไปค่ะ
  • Employment Record: หลักฐานการทำงาน ซึ่งถ้าถือวีซ่านักเรียนและไม่ได้ทำงานก็สามารถข้ามส่วนนี้ไปได้เลยค่ะ
  • หลังจากเรายื่นเอกสารไปและทางเอเจนท์ approved หรืออนุมัติการเช่านั่นก็หมายความว่าเราได้บ้านแล้ว แต่กระบวนการยังไม่จบเพียงเท่านี้นะ ขั้นตอนต่อไปเราต้องทำการเซ็นสัญญาและจ่ายเงินกัน

Note: แนะนำว่าก่อนเราจะเซ็นสัญญาควรจะอ่านรายละเอียดเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาให้ครบถ้วน ถ้าไม่เข้าใจส่วนไหนให้ถามทางเอเจนท์ไปเลยเพื่อที่เราจะได้ไม่มีปัญหาในภายหลังนะ

 

การจ่ายเงิน “bond” (เงินค่ามัดจำ)

ตามกฎหมายออสเตรเลียเราจำเป็นต้องจ่ายเงิน bond (เงินมัดจำ) หรือค่าประกันจากผู้เช่าในส่วนนี้ เมื่อทำสัญญาเช่าที่พัก เราจะได้เงิน Bond คืนเมื่อเราย้ายออก แต่ในกรณีที่มีการยกเลิกสัญญาจากทางผู้เช่า หรือข้าวของในบ้านเสียหาย เราจะได้รับเงินคืนจำนวนหนึ่งหรือไม่ก็ไม่ได้รับเงินส่วนนี้คืน (อยู่ที่ข้อกำหนดในสัญญา) โดยเงินส่วนนี้จะถูกเก็บไว้โดย RTA หรือองค์กรที่ดูแลเรื่องการเช่าบ้าน

สำหรับการเรียกเก็บเงิน bond ถ้าค่าเช่าห้องไม่เกิน $700 ต่อสัปดาห์ ตามกฏหมายแล้วผู้ให้เช่าจะสามารถเรียกเก็บได้สูงสุด 4 สัปดาห์ของค่าเช่า

ยกตัวอย่างคำนวณง่ายๆ เช่น:

ถ้าค่าห้องราคา $500 ต่อสัปดาห์ , เค้าบอกขอเก็บ bond 1 เดือน , ค่าเช่าล่วงหน้า 1 เดือน , สัญญา 1 ปี

  • เราก็จะจ่ายก้อนแรกคือ (500 x 4 สัปดาห์ = $ 2,000 )
  • ดังนั้น เงิน bond ที่เราต้องจ่ายก่อนเข้าอยู่คือ 2,000 AUD

Note: ค่ามัดจำ (bond) จะได้คืนตอนหมดสัญญาหรือย้ายออกตาม policy ที่ได้ทำการเซ็นสัญญาไว้) ทีนี้ ถ้ามีการกำหนดจ่ายล่วงหน้าด้วย ก็คำนวณต่อจากข้างต้นได้เลย

Note: ขอเตือนไว้ก่อนว่า การคิดค่าเช่าบ้าน 1 เดือน ไม่สามารถเอายอดต่อสัปดาห์ x 4 ได้ เนื่องจาก ใน 1 เดือน อาจจะมี 4 หรือ 5 สัปดาห์ ฉะนั้นเราต้องคิดเป็นสัปดาห์ต่อปี แล้วหารที่จำนวน 12 เดือน (งานคิดเลขก็มา)

 

สำหรับตัวอย่าง:

  • จะคิดค่าห้องที่ $500 จะได้เป็น ค่าห้อง $500/ สัปดาห์
  • ต้องนำ $500 x 52 (สัปดาห์) แล้วนำผลมาหาร 12 เดือน
  • จะได้ advance rent = $500 x 52/12 = $2,166
  • ดังนั้น ตอนเซ็นสัญญาการจ่ายbond และค่าเช่าล่วงหน้า 1 เดือน เราต้องจ่ายให้เอเจนท์หรือผู้ให้เช่า: $2,000 (bond) + $2,166 (advance rent) = $ 4,166
  • *โดยถ้าจ่ายแบบนี้ค่าเช่ารอบถัดไปก็อาจจะเป็นอีกเดือนไปเลยที่จะต้องจ่าย

การตกลงการจ่ายค่าเช่าเท่าไหร่และรูปแบบไหนขึ้นอยู่กับคุยกัน โดยหลักการจ่ายจะมีทั้งแบบ จ่ายแบบทุกสัปดาห์ (weekly), จ่ายแบบทุก 2 สัปดาห์ (fortnighly) หรือ จ่ายแบบรายเดือน (monthly)

เมื่อทำสัญญาและจ่ายเงินbondเรียบร้อยแล้ว ทางผู้ให้เช่าจะต้องให้ใบเสร็จเงินค่ามัดจำกับ เราอย่าลืมเก็บหลักฐานไว้ให้ดี เพราะการที่เราจะได้เงินส่วนนี้คืนหลังจากสัญญาสิ้นสุดลง ซึ่งเงิน bond ที่เราจ่ายไปจะถูกรายงานและจัดเก็บไว้กับทางองค์กรรัฐบาลที่ดูแลในส่วนนี้

  • Taxi

ทุกๆสนามบินจะมีจุดให้บริการแท็กซี่ ซึ่งสามารถใช้บริการได้โดยการให้ที่อยู่แก่คนขับ และราคาจะขึ้นอยู่ตามระยะทางโดยนับจากมิเตอร์ ขอเตือนนิดนึงว่า ค่า taxi ที่ออสเตรเลียค่อนข้างราคาสูงพอสมควร

  • บริการรถรับ-ส่งส่วนตัวจากสนามบิน

เราสามารถเข้าไปจองรถรับส่งได้ที่เว็ปไซต์ https://www.klook.com/th/airport-transfers/ เพียงเลือกสนามบินที่เราต้องการให้คนขับมารับ และใส่ที่อยู่จุดหมายปลายทางที่ต้องการให้คนขับไปส่ง โดยเลือกวัน เวลา และจำนวนผู้โดยสาร หลังจากนั้นเราก็เลือกประเภทรถและราคาที่เราต้องการได้เลย

  • Uber หรือ Didi (Recommended แนะนำว่าวิธีนี้เวิร์คสุด)

สำหรับใครที่กลัวจะสู้ค่า taxi ไม่ไหว และไม่อยากใช้รถประจำทาง เรพาะบัตรโดยสารก็ยังไม่มี ขอแนะนำให้โหลด application ของ Uber และ Didi เผื่อไว้ก่อนเลย เมื่อออกจากเกท แ้วก็สามารถเปิดแอพ เรียกใช้บริการ แล้วใส่จุดหมายปายทางที่พัก (destination) ที่เราจะไปได้เลย จากนั้นก็แค่ไปรอที่จุดนัดหมายที่เราปักหมุดไว้แค่นั้นเอง

  • Public transportation

รถโดยสาร วิธีนี้คือประหยัดเงินสุด แต่อาจจะไม่แนะนำสำหรับคนที่มีสัมภาระเยอะ อีกทั้งบางคนอาจจะยังไม่มีบัตรโดยสาร ซึ่งรถบัสโดยสารนี้จำเป็นจะต้องมีบัตรโดยสารเพื่อแตะจ่ายค่าบริการตอนขึ้น-ลง รถโดยสาร หากสัมภาระไม่เยอะ และมีบัตรโดยสารอยู่แล้ว ก็แนะนำว่าแตะบัตร นั่งชิลกันไปเลยยย

การเดินทางในออสเตรเลียนั้นสะดวกสบายและง่ายมากๆ ไม่ว่าจะขึ้นรถบัส รถไฟ เรือ หรือแทรม เราจะใช้บัตรใบเดียวเท่านั้นในการเดินทางทั่วรัฐ ซึ่งออสเตรเลียนั้นแบ่งออกเป็น 6 รัฐใหญ่ ๆ และในแต่ละรัฐนั้นจะเรียกชื่อบัตรแตกต่างกัน ซึ่งเราสามารถซื้อบัตรเหล่านี้ได้ตามร้านสะดวกซื้อ (พวก Ezymart , 7 Eleven ) , ตู้ขายตั๋ว หรือเว็บไซต์ของแต่ละรัฐได้เลย

ประเภทบัตรโดยสารที่แต่ละรัฐใช้ มีดังนี้:

  • Victoria (Melbourne) จะใช้บัตรโดยสารชื่อว่า Myki – Website: https://www.ptv.vic.gov.au/
  • New South Wales (Sydney) จะใช้บัตรโดยสารชื่อว่า Opal card  – Website: https://www.opal.com.au/
  • Queensland (Brisbane and Gold Coast) จะใช้บัตรโดยสารชื่อว่า Go card – – Website: https://translink.com.au/
  • South Australia (Adelaide) จะใช้บัตรโดยสารชื่อว่า MetroCard – Website: https://www.adelaidemetro.com.au
  • Western Australia (Perth) จะใช้บัตรโดยสารชื่อว่า SmartRider – Website: https://www.transperth.wa.gov.au
  • Tasmania จะใช้บัตรโดยสารชื่อว่า Greencard – Website: https://www.metrotas.com.au/fares/greencard/

Note: ส่วนใหญ่ในทุก ๆ รัฐจะมีส่วนลดครึ่งราคาสำหรับค่าเดินทาง (Consession) ให้กับนักเรียนต่างชาติที่เรียนในระดับ VET และปริญญาตรีขึ้นไป ซึ่งไม่รวมการเรียนภาษา โดยเราสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ข้างต้นในลิสต์ของแต่ละรัฐที่อาศัยอยู่ได้เลย

  • ทำไมต้องมีประกันสุขภาพ ?

ประกันสุขภาพนี้จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าหมอ ค่าโรงพยาบาล ค่ารถพยาบาล และค่ายาที่เราอาจจะต้องเสีย หากเรามีการเจ็บป่วยในระหว่างที่เรียนอยู่ที่ออสเตรเลีย

  • OSHC คืออะไร?

การประกันสุขภาพสำหรับนักศึกษาต่างชาติ (Overseas Student Health Cover – OSHC) ถูกนำมาใช้เพื่อให้แน่ใจว่า นักศึกษาต่างชาติมีการเตรีมการด้านการดูแลสุขภาพระหว่างอยู่ในประเทศออสเตรเลีย OSHC ขอยืนยันว่านักศึกษาต่างชาติจะสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่เหมาะสมได้โดยปราศจากปัญหาด้านการเงินเกินกว่าที่ควร โดย OSHC จะให้ความคุ้มครองในค่าใช้จ่ายต่อไปนี้:

  • การรักษาพยาบาลนอกโรงพยาบาล
  • การรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล
  • ยาตามใบสั่งแพทย์
  • ความช่วยเหลือฉุกเฉินด้วยรถพยาบาล

*สิทธิ์และการเคลมประกันเป็นไปตามประเภทของประกันที่สมัครและเงื่อนไขที่กำหนด

 

วิธีรับ membership card ประกันสุขภาพจาก BUPA

สำหรับทุกคนที่มาถึงออสเตรเลียแล้ว แล้วสมัครเรียนพร้อมประกันสุขภาพจากทาง SOL Edu จะได้รับการประกันสุขภาพ OSHC จาก BUPA Australia ทั้งนี้ SOL Edu จะทำการสมัคร OSHC ให้ แต่ทุกคนจะต้องมารับบัตรเเข็ง หรือ membership card ด้วยตนเอง ซึ่งเมื่อเราจะไปโรงพยาบาล หรือคลินิค เราจะต้องมีบัตร membership card นี้ไปด้วยเพื่อไว้ใช้สำหรับยื่นให้เจ้าหน้าที่ทำบิลเพื่อเคลมค่าใช้จ่ายตามสิทธิ์ประกันสุขภาพที่เราควรจะได้รับ

  • สำหรับใครที่สมัครประกันสุขภาพกับทาง SOL Edu และมาเรียนที่ Brisbane นั้น สามารถมารับบัตรแข็งได้ที่ออฟฟิศ SOL Edu ได้เลย
  • ส่วนคนไหนที่ไปเมืองอื่นสามารถขอรับบัตรแข็งจาก Bupa ได้ง่ายๆ โดยสามารถทำออนไลน์ได้เลยสบายๆ มาดูขั้นตอนกัน

วิธีขอรับบัตร BUPA Membership Card ออนไลน์ด้วยตนเอง:

  • คลิกที่ลิงก์ เพื่อทำการ login ใน Mybupa : https://my.bupa.com.au/login
  • ใส่ ID และ Password ที่ใช้สมัครทำประกันไว้
  • คลิกที่ แถบ Menu ของเว็บ จากนั้นเลือก Cover
  • เลือก ‘Order a membrship card’
  • เช็ครายละเอียดของเบอร์โทน และที่อยู่ที่ออสเตรเลียของเราว่าถูกต้องหรือไม่ สามารถทำการแก้ไขและอัพเดทได้โดยเลือกที่แถบ ‘Membership address’
  • เมื่ออัพเดทข้อมูลเสร็จแล้ว ก็คลิก ‘Order’ ได้เลย
  • จากนั้นก็แค่รอให้บัตรมาส่งที่บ้าน easy peasy สุดๆเลย

Note: เมื่อได้บัตรเเข็งมาแล้ว อย่าลืมนำหมายเลขบัตร มาอัพเดทใน Mybupa ด้วยนะเพื่อจะได้ต่อการอัพเดทและเคลมค่าใช้จ่ายทางออนไลน์ในอนาคต หากมีข้อสงสับหรือต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถสอบถามทาง Bupa ได้ทางเว็บไซต์ หรือ โทร 1800 888 942 หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ BUPAสาขาที่ใกล้กับที่พักของทุกคนได้เลย

การทำงานพาร์ทไทม์ / ขั้นตอนการขอ TFN และ ทำ SUPER ในออสเตรเลีย

สำหรับทุกคน การหางานพาร์ทไทม์เพื่อทำระหว่างเรียนไปด้วยถือเป็นประสบการณ์ที่ดีอย่างหนึ่ง นอกจากจะได้ประสบการณ์การทำงานในต่างแดนแล้ว เราก็ยังเงิน เป็นค่าขนมเล็กๆน้อยๆไว้ใช้ระหว่างเรียนด้วย แต่ก่อนที่เราจะไปแนะนำ How To หางานพาร์ทไทม์ในออสเตรเลียยังไงให้ได้งาน ดีและชัวร์ SOL Edu ขอแนะนำให้ทุกคนที่สนใจจะหางานพาร์ทไทม์ทำระหว่างเรียน เริ่มสมัคร TFN กันก่อน บางคนอาจจะยังไม่รู้ว่า TFN คืออะไร จำเป็นแค่ไหน แล้วเกี่ยวอะไรกับการหางานหรือทำงานในออสเตรเลีย เราจะมาอธิบายรวมถึงขั้นตอนทั้งหมดให้ทุกคนเข้าใจ และสามารถสมัครได้เลยเมื่อมาถึงออสเตรเลีย พร้อมแล้วก็มา! เริ่มเลออออ!

 

  • TFN คืออะไร? (*สิ่งจำเป็นที่ต้องมีก่อนการสมัครงานทั้งพาร์ทไทม์และฟูลไทม์)

TFN (Tax File Number) เป็นเลขที่ทางรัฐบาลมอบให้ทุกคนที่ต้องการทำงานในออสเตรเลีย เพื่อใช้เลขนี้ในการจ่ายภาษีและเข้าสู่ระบบ super ที่เป็นไปตามกฎหมายที่รัฐบาลกำหนด โดยการขอเลข TFN นั้น เราขอจะเพียงแค่ 1 ครั้งเท่านั้น ไม่ว่าเราจะเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนงาน หรือย้ายรัฐ เราก็สามารถนำเลขนี้ไปใช้ได้ตลอด เมื่อกรอกข้อมูลในการสมัคร TFN เรียบร้อยแล้ว ทางรัฐบาลจะส่งจดหมายที่ระบุเลข TFN มาให้เราตามที่อยู่ที่เราให้ไปภายในประมาณ 14-28 วัน ซึ่งขั้นตอนในการสมัครขอเลข TFN นั้นง่ายมากๆ และสามารถทำได้ด้วยตัวเอง เพียงเข้าไปกรอกข้อมูลส่วนตัว และที่อยู่ออสเตรเลียของเรา

วิธีสมัคร TFN ด้วยตนเองง่ายๆ ใช้เวลาแค่ 3 นาที:

1.) คลิกเข้าไปที่ website ของ Australian Taxation Office ลิงก์สมัคร TFN ลิงก์นี้ https://www.ato.gov.au/Individuals/Tax-file-number/Apply-for-a-TFN/

 

2.) คลิกเลือก Foreign passport holders, permanent migrants, and temporary visitors

 

3.) คลิก Apply online for TFN

 

4.) อ่านรายละเอียดและทำความเข้าใจข้อมูลในหน้านี้ก่อน แล้วคลิก start จากนั้นจะเจอกับหน้าที่ให้เรากรอก Identification และ Personal Details โดยในส่วนแรก Identification ให้กรอกตามนี้

  • 4A) What is your passport or travel document number? — ใส่หมายเลขพาสปอร์ต
  • 4B) What is the country of origin of your passport or travel document? — ประเทศที่ออกพาสปอร์ตให้คือประเทศอะไร ก็พิมพ์ว่า Thailand
  • 4C) Have you ever visited Australia before? — เคยมาที่ประเทศออสเตรเลียแล้วหรือไม่ ตอบตามความเป็นจริงนะ จากนั้นเลื่อนลงมากรอกข้อมูลส่วนตัวพาร์ทต่อไปได้เลย

 

5.) ในส่วนของ Personal Detail ให้กรอกตามนี้

  • 5A) Title – ใส่คำนำหน้าชื่อ
  • 5B) Family name นามสกุล
  • 5C) First given name – ชื่อจริง
  • 5D) Other given names – ถ้ามีชื่อจริงๆอื่นๆที่ใช้ตามเอกสารราชการก็ใส่ตรงนี้
  • 5E) Are you, or have you been known by any other names? — มีชื่ออื่นๆที่ใช้อีกไหม เช่น ชื่อก่อนแต่งงาน (เป็นชื่อที่เเจ้งกับทางราชการเช่นเดียวกันนะ)
  • 5F) What is your full date of birth? – ใส่วันเกิดของตัวเอง
  • 5G) What is your gender? – ใส่เพศของตัวเอง
  • 5H) Do you have a spouse? — มีคู่สมรสหรือไม่? ถ้าตอบ Yes กรอกข้อมูลคู่สมรสไปด้วย
  • 5I) เสร็จแล้ว คลิก Next

 

6.) หน้านี้คือในส่วนของ Exisiting TFN or ABN Information – ถ้าไม่เคยมี TFNหรือ ABN มาก่อน ให้ตอบ No ทั้งหมด

 

7.) Address Details ให้กรอกข้อมูลที่อยู่ในออสเตรเลียของเราลงไป

 

  • 7A) What is your Australian postal address? — กรอกที่อยู่เราในออสเตรเลียลงไป ซึ่งที่อยู่ที่กรอกตรงนี้จะเป็นที่อยู่ ที่ ATO ส่งจดหมายที่มีเลข TFN มาให้เรา
  • 7B)What is your current home address? — ช่องนี้จะโผล่มาหลังจากข้อมูลที่อยู่ข้างบนเสร็จ สามารถติ๊กถูกในช่องได้เลยถ้าที่อยู่ออสเตรเลียของเรามีที่เดียว
  • 7C) คลิก save – เมื่อ save แล้ว คลิก next ได้เลย

8.) พาร์ทสุดท้ายในการกรอกข้อมูล เป็นส่วนของ Contact Details

 

8A) Who would you like the ATO to contact if we need further information to process your TFN application? — จะให้เจ้าหน้าที่ติดต่อใครได้กรณีที่เจ้าหน้าที่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เลือกตัวเองหรือคนอื่นก็ได้ ถ้าเลือกตัวเอง ก็กรอกเบอร์โทรศัพท์ และ Email ลงไปได้เลย แต่ถ้าจะให้ติดต่อคนอื่นก็คลิกที่ช่องข้างล่าง “I want to provide contact details for another person.” แล้วกรอกเบอร์โทร และ email ของคนอื่นที่เราต้องการให้ติดต่อได้เลย เสร็จแล้ว คลิก Next

 

9.) หน้าสุดท้าย submit หน้านี้จะบอกว่า ข้อมูลที่กรอกมาต้องถูกต้องและเป็นความจริง จากนั้นกด submitเพื่อเป็นการยอมรับ เป็นอันเสร็จเรียบร้อยจ้า

 

10.) จากนั้นระบบจะพามาหน้าที่มีเลขอ้างอิงที่เราต้องใช้ติดต่อกับบ ATO หากเกิดกรณีว่าเราไม่ได้รับ TFN ตามที่สมัครไป ซึ่งเลขนี้จะถูกส่งมาทางอีเมล์ที่เรากรอกไปด้วย

Note: จดหมาย TFN จะถูกส่งมาภายใน 14-28 วันหลังจากวันสมัคร ถ้าครบกำหนดแล้วใครยังไม่ได้รับจดหมายแจ้งTFNก็สามารถโทรไปสอบถามกับ ATO ได้ที่ 13 28 61 วันจันทร์ – ศุกร์ 8.00 – 18.00 น.ได้เลย

หลังจากที่เราได้ TFN แล้ว เราก็สามารถหางานพาร์ทไทม์และสมัครได้เลย ทีนี้ต้องบอกก่อนว่าเวลาเราไปสมัครงานในแต่ละที่ ส่วนใหญ่แล้วสำหรับที่ทำงานพาร์ทไทม์จำวพวกร้านอาหาร ร้านนวด จะขอแค่ TFN จากเรา ส่วน Superannuation (เรียกสั้นๆว่า super) เขาจะสมัครให้เราเอง ถ้าเราไม่เคยมีหมายเลย super มาก่อน

  • Superannuation คืออะไร

Super คือ เงินบำนาญหรือกองทุนเงินเกษียณ ซึ่งเป็นรายได้อีกส่วนหนึ่งที่นายจ้างจะจ่ายให้กับเรา และเงินนี้จะเพิ่มขึ้นตลอดตามการทำงานของเรา แต่ super จะไม่สามารถเบิกออกมาใช้ได้เลย เราจะเบิกเงิน super ออกมาได้ก็ต่อเมื่อเราไม่ได้ทำงานที่ออสเตรเลียแล้ว ไม่ถือวีซ่าออสเตรเลีย และจะต้องบินออกจากประเทศออสเตรเลียแล้วเท่านั้นถึงจะทำเรื่องขอการรับเงิน super คืนได้ด้วยการกรอกฟอร์ม Departing Australia superannuation payment (DASP) 

ทีนี้อย่างที่กล่าวไปที่ข้างต้น งานพาร์ทไทม์ตามร้านอาหาร คาเฟ่ ร้านนวด หรือซุปเปอร์มาร์เกต ส่วนใหญ่ เขาจะสมัคร super ให้เราได้ ในกรณีที่เราไม่มีเลข super มาก่อน เราสามารถให้เลข TFN ตอนกรอกรายละเอียดหลังนายจ้างรับเราเข้าทำงานเพื่อให้เขาสมัครให้เราได้

Note: ทั้งนี้เราสามารถสอบถามกับนายจ้างของเราก่อนได้ หากว่าเขาไม่สารถสมัครให้เราได้เราก็สามารถสมัครด้วยตัวเองได้เหมือนกัน

กรณีที่เราต้องสมัครด้วยตนเอง ขั้นตอนในการสมัครขอเลข super นั้นง่ายมากๆ

(ง่ายกว่าสมัคร TFN) เพียงกรอกข้อมูลส่วนตัว และเลข TFN ของตัวเอง ในการสมัคร โดยสามารถเลือกเข้าไปตามเว็บไซต์ด้านล่างนี้ในการสมัคร super ได้เลย

หลังจากกรอกข้อมูลเรียบร้อยเเล้ว จะมีemail ส่งหมายเลขอ้างอิงมาให้ และจะมีจดหมายแจ้งเลข super ส่งมาให้ที่บ้าน (เหมือนกับ TFN) ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 14-28 วันเช่นกัน

อันดับแรกก่อนจะหางาน อยากแนะนำให้ทุกคนเช็ค เงื่อนไขการทำงานของตัวเองกันก่อน โดยเช็คในใบ Visa Grant Notification ได้เลย ในเอกสารนั้นจะมีตัว Visa conditions – Work limitation ให้ลองเช็คดูคะว่าเราได้ตัวไหน อนุญาติทำงานไหม แต่โดยปกติแล้ว สำหรับผู้ที่ถือวีซ่านักเรียน จะอนุญาติให้ทำงานได้ไม่เกิน 40 ชั่วโมง ต่อสองสัปดาห์ (Fortnight) เมื่อคอร์สเรียนเริ่ม

Note: สำหรับใครที่เพิ่งมาถึงออสเตรเลีย แล้วยังไม่เปิดเทอม อย่างแรกคือ ยังไม่สามารถทำงานได้จนกว่าคอรส์เรียนจะเริ่ม (ซึ่งเวลานี้เหมาะสำหรับไปสมัคร TFN มารอไว่ก่อน) หากคอรส์เรียนเริ่มแล้ว จะสามารถทำงานได้ไม่เกิน 40 ชั่วโมง ต่อสองสัปดาห์ในตอนเปิดเทอม แต่หากอยู่ในระหว่างระหว่างปิดเทอม จะทำงานกี่ชั่วโมงก็ได้ และรวมไปถึง ช่วงเวลาที่เรียนจบคอรส์ตาม CoE แล้ววีซ่ายังไม่หมด ก็สามารถทำงานได้แบบไม่จำกัดชั่วโมงได้เช่นกัน

Note: ช่วงนี้ รัฐบาลออสเตรเลียออกนโยบาย Temporary relaxation of working hours for student visa holders ซึ่งทำให้นักเรียนสามารถทำงานได้เกิน 40 ชั่วโมง ต่อสองสัปดาห์ (Fortnight) ได้สำหรับการทำงานบางประเภท ภายใต้เงื่อนไขดังนี้:

  • – ทำงานในสถานดูแลผู้สูงอายุที่ได้รับการรับรองหรือได้รับงบประมาณสนับสนุนจากเครือรัฐฯ (Commonwealth-funded) ซึ่งต้องมี RACS ID หรือ NAPS ID ก่อนวันที่ 8 ก.ย. 2563
  • – ทำงานให้กับผู้ให้บริการโครงการ National Disability Insurance Scheme ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน
  • ได้ลงทะเบียนการศึกษาในหลักสูตรให้บริการทางการแพทย์ และอยู่ระหว่างการทำงานเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ตามที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกำหนด
  • – ทำงานในภาคเกษตรกรรม
  • – ทำงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ

อย่างไรก็ตามการผ่อนปรนชั่วโมงนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงและอัพเดทตามความเหมาะสม แนะนำว่าให้ทุกคนติดตามาข้อมูลของทางการออสเตรเลียเพิ่มเติมหรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ https://immi.homeaffairs.gov.au/…/temporary-relaxation…

 

  • ทริปเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับการทำงาน

Forthnights เท่ากับ 14 วัน เริ่มนับจากวันจันทร์ และจบลงที่วันอาทิตย์ของอาทิตย์ที่สอง ยกตัวอย่างการนับชั่วโมงการทำงานให้ดูง่ายๆ ดังนี้:

  • สัปดาห์ที่ 1 – 15 ชั่วโมง
  • สัปดาห์ที่ 2 – 25 ชั่วโมง
  • สัปดาห์ที่ 3 – 25 ชั่วโมง
  • สัปดาห์ที่ 4 – 10 ชั่วโมง

จากตัวอย่างด้านบน ชั่วโมงการทำงานในสัปดาห์ที่ 2 แล 3 รวมกันแล้วเกิน 40 ชั่วโมง ถือว่าผิดกฎการทำงานภายใต้วีซ่านักเรียนและอาจถูกยกเลิกวีซ่าได้

  • คอยจดวันเวลา และชั่วโมงการทำงานไว้เสมอเพื่อเป็นหลักฐาน
  • เก็บข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวกับใบรับเงินค่าจ้าง สัญญาข้อตกลงต่างๆ รวมไปถึง เงินเกษียณอายุ และอย่าลืมขอเลขที่ประจำตัวผู้เสียภาษีก่อนเริ่มงานนะ

4 รูปแบบการหางานพาร์ทไทม์ที่ออสเตรเลีย:

รูปแบบที่ 1 : Walk-In

รูปแบบการ walk-in เป็นการยื่นสมัครด้วยตนเองที่สถานประกอบการนั้นๆ ในรูปแบบนี้เราจะต้องใส่ใจในบุคลิกภาพ การแต่งตัวและท่าทีเป็นพิเศษ เพื่อสร้างความประทับใจแรกให้แก่นายจ้าง รวมถึงจะต้องมีความรู้ในกิจการนั้นๆเบื้องต้นและอย่าลืมที่จะฝากเรซูเม่ไว้เสมอ ถึงแม้จะไม่สามารถติดต่อกับผู้จัดการห้างร้านได้โดยตรง

 

รูปแบบที่ 2 : ยื่นสมัครออนไลน์

ในออสเตรเลียจะมีเว็บไซต์หางานอยู่มากมาย เช่น Seek , CareerOne หรือ Indeed เว็บไซต์ดังกล่าวจะมีฟังก์ชันการใช้งานไม่ต่างกับของไทยที่เราคุ้นชิน ในหน้าเว็บไซต์จะประกอบไปด้วยแถบค้นหา ตามสายงาน หรือ คำจำกัดความเฉพาะ มีให้ค้นหาตามพื้นที่กว้าง-แคบ ตามเมืองที่เราอยู่อาศัย รายละเอียดงานต่างๆจะถูกระบุไว้อย่างละเอียดและชัดเจน ทั้งชื่อตำแหน่ง ขอบเขตและหน้าที่ของการทำงาน ค่าตอบแทนที่จะได้รับและสวัสดิการอื่นๆ

 

รูปแบบที่ 3 : ค้นหาจาก official website หรือ อีเมล์ไปยังร้านค้าหรือบริษัทนั้นๆ

นอกจากการใช้ third-party website ในการหางานแล้ว อีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้เราได้อัพเดทตำแหน่งงานที่เปิดรับได้เร็วกว่าใคร นั่นก็คือ การเข้าไปดู career update ทาง official website ของบริษัทหรือร้านต่างๆที่เราสนใจ ซึ่งนอกจากนี้เรายังสามารถอีเมล์แนบ resume ไปยังบริษัทหรือร้านค้าของเราได้โดยตรง และสามารถสอบถามข้อมูฃเพิ่มเติมต่างๆได้อีกด้วย

 

รูปแบบที่ 4 : ค้นหาจาก Community บน Facebook

น่าเสียดายที่ Facebook Jobs ไม่สามารถใช้ได้นออสเตรเลียอีกต่อไป แต่ทั้งนี้สำหรับใครที่อยากลองทำพาร์ทไทม์ในกลุ่ม hospitality กับคนไทยด้วยกันก็ยังสามารถเข้าไปหางานได้ตาม group ทั่วๆไป เช่น

  • https://www.facebook.com/groups/337049706949787/ – เพจหางาน หาบ้าน by Thaiwahclub
  • https://www.facebook.com/groups/thaisinbrisbane – เพจ Thais in Brisbane

หรือสามารถค้นหาจาก Thai Community ทาง website ต่างๆ ได้เช่น: